แบทแมน บีกินส์ (อังกฤษ : Batman Begins) คือ ภาพยนตร์ชุดแบทแมนลำดับที่ 5 เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2548 กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน นำแสดงโดย คริสเตียน เบล, ไมเคิล เคน, เลียม นีสัน, แคที โฮล์มส์, แกรี โอลด์แมน, ซิลเลียน เมอร์ฟี, มอร์แกน ฟรีแมน, ทอม วิลคินสัน, Rutger Hauer และเค็ง วะตะนะเบะ
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์แบทแมนภาคนี้เป็นอิสระจากภาพยนตร์ชุดแบทแมนที่สร้างมาก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง โดยมีโครงเรื่องที่กล่าวถึงจุดกำเนิดของตัวละครแบทแมน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเส้นเรื่องของหนังสือการ์ตูนชุดแบทแมนดั้งเดิม เช่น แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ (Batman: The Man Who Falls) แบทแมน : เยียร์วัน (Batman: Year One) และ แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน (Batman: The Long Halloween)
ที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากความคิดของคริสโตเฟอร์ โนแลน และเดวิด เอส. โกเยอร์ (ผู้เขียนบทภาพยนตร์) ที่มาร่วมงานกันเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2546 ซึ่งภาคนี้ถือเป็นภาพยนตร์แบทแมนเรื่องแรก หลังจากที่ภาค แบทแมนแอนด์โรบิน (Batman & Robin) เมื่อ พ.ศ. 2540 ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบและประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ โดยในภาคนี้ เขาทั้งสองคนได้ดัดแปลงให้มีโทนสีมืดและมีความสมจริงของเนื้อเรื่องมากกว่าที่ภาคที่ผ่านมา
การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้วิธีการแสดงผาดโผนแบบดั้งเดิมและอาศัยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ไม่มากนัก โดยสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำในเบื้องต้น คือ อังกฤษและชิคาโก
แบทแมน บีกินส์ ได้รับกระแสที่ดีทั้งจากคำวิจารณ์และการตอบรับเชิงพาณิชย์ โดยได้มีการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อชื่อว่า แบทแมน อัศวินรัตติกาล (The Dark Knight) ขึ้นมา ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2551 กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน และนำแสดงโดยคริสเตียน เบล เช่นเดิม
เมื่ออายุ 8 ขวบ บรูซ เวย์น (กัส เลวิส) ได้พลัดตกลงไปในถ้ำใต้ดินแห่งหนึ่งบริเวณคฤหาสน์ที่เขาอาศัย ณ ที่นั้น เขาได้เผชิญหน้ากับฝูงค้างคาวขนาดใหญ่ พวกมันได้ฝังความกลัวค้างคาวในใจของเขาตั้งแต่นั้นมา วันหนึ่ง พ่อและแม่ของเขาได้พาเขาไปชมละครเวที ในละครเรื่องนั้นประกอบไปด้วยตัวละครที่มีลักษณะคล้ายค้างคาว เมื่อพวกมันปรากฏตัว เวย์นก็เกิดความกลัวและเร่งเร้าให้พ่อและแม่พาเขากลับบ้าน หลังจากที่เดินออกจากโรงละครแห่งนั้น พ่อและแม่ของเวย์นก็ถูกสังหารโดยโจรจี้ปล้นที่ชื่อ โจ ชิลล์ (ริชาร์ด เบรก) ซึ่งถูกจับกุมอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไม่นาน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เวย์นเฝ้าโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อและแม่ของเขาเสียชีวิต
หลายปีต่อมา หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน บรูซ เวย์น (คริสเตียน เบล) ก็เดินทางกลับมายังเมืองกอตแทม บ้านเกิดของเขาอีกครั้งเพื่อมาฆ่าชิลล์ ที่ขณะนั้นถูกศาลเลื่อนการตัดสินคดีฆาตกรรมพ่อและแม่ของเขาไป เพื่อใช้เป็นพยานให้การในคดีความของผู้ทรงอิทธิพลที่ชื่อ คาร์ไมน์ ฟัลโคนี (ทอม วิลคินสัน) แต่ก่อนที่เวย์นจะลงมือ หนึ่งในลูกน้องของฟัลโคนีก็ชิงสังหารชิลล์ไปเสียก่อน เวย์นได้เล่าแผนการที่ล้มเหลวของเขาให้ แรเชล ดอวส์ (แคที โฮล์มส์) เพื่อนสนิทหญิงตั้งแต่วัยเด็กฟัง เมื่อได้รับรู้แผนการดังกล่าว เธอก็แสดงความรังเกียจต่อแผนการแก้แค้นอันหน้ามืดตามัวและไม่ตระหนักถึงความยุติธรรมของเขา
ครั้งหนึ่ง เวย์นได้ไปเผชิญหน้ากับฟัลโคนี ผู้ซึ่งกล่าวกับเขาว่า ตัวเขานั้นไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติของอาชญากรรมเลย จากคำพูดดังกล่าว เวย์นได้ตัดสินใจที่จะเดินทางไปในมุมต่าง ๆ ของโลก เพื่อทำความเข้าใจจิตวิญญาณของการเป็นอาชญากร ประมาณ 7 ปีหลังจากนั้น เวย์นก็ถูกจับกุมที่ประเทศจีนโทษฐานที่เป็นขโมยและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำของชาวภูฏาน ณ ที่แห่งนั้น เขาได้พบกับ เฮนรี ดูคาร์ด (เลียม นีสัน) ผู้ซึ่งเชิญให้เขาไปเข้าร่วมกับกลุ่มศาลเตี้ยชั้นนำที่ชื่อ สหพันธ์แห่งเงา (League of Shadows) ที่นำโดยหัวหน้ากลุ่มที่ชื่อ ราส์ อัลกูห์น (เค็ง วะตะนะเบะ) เวย์นได้เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มตามคำเชิญ เขาได้รับการต้อนรับ เลี้ยงอาหาร และฝึกวิชาการสู้รบร่วมกับกลุ่มทุกรูปแบบ โดยมีดูคาร์ดเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน จนเขาสามารถขจัดความกลัวในวัยเด็กของเขาได้ แต่เมื่อเขาได้รู้ว่า กลุ่มตั้งใจจะใช้เขาเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายเมืองกอตแทม เขาจึงปฏิเสธความตั้งใจนั้นด้วยการทำลายฐานบัญชาการของกลุ่มและสังหารราส์ อัลกูล ขณะที่ฐานบัญชาการถล่มจนเป็นซากหักพัง เวย์นได้ช่วยชีวิตดูคาร์ดที่กำลังหมดสติเอาไว้ และนำเขาไปพักรักษาตัวในหมู่บ้านแถบนั้น
บรูซ เวย์น กลับมาสู่เมืองกอตแทมอีกครั้ง ขณะนั้น เมืองเกือบทั้งเมืองกำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟัลโคนี เวย์นจึงวางแผนที่จะทำสงครามกับระบบฉ้อฉลของฟัลโคนีด้วยตัวคนเดียว เขาได้แลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกับดอวส์ ที่กำลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอัยการเขต และจ่า จิม กอร์ดอน (แกรี โอลด์แมน) นายตำรวจที่เคยปลอบขวัญเขาหลังจากที่พ่อและแม่ของเขาถูกฆ่า และหลังจากที่เวย์นสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบริษัท เวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของ วิลเลียม เออรล์ (Rutger Hauer) เขาก็ได้รับความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นรถหุ้มเกราะ ชุดเกราะ รวมไปถึงนวัตกรรมจากอดีตกรรมการของบริษัทที่ชื่อ ลูเซียส ฟอกซ์ (มอร์แกน ฟรีแมน) เพื่อนำมาใช้สร้างชุดเครื่องแบบแบทแมน
ภายใต้เครื่องแบบใหม่และความสามารถของอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ได้เปรียบ เวย์นได้ลอบทำลายกระบวนการขนส่งยาเสพติดทางเรือของฟัลโคนี และจับตัวฟัลโคนีไปมัดไว้กับไฟฉายดวงใหญ่บนยอดอาคารสูง และช่วยเหลือดอวส์จากการถูกลอบสังหารโดยคนของฟัลโคนี และได้ทิ้งหลักฐานที่จะใช้เอาผิดเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือนของฟัลโคนีให้เธอ
วันหนึ่ง ขณะที่บรูซ เวย์น ในคราบแบทแมนกำลังออกสืบสวนหายาที่ "ผิดปกติ" อยู่นั้น เขาก็ถูกพ่นสารเคมีหลอนประสาทที่มีฤทธิ์รุนแรงใส่ โดยนักจิตเภสัชวิทยาที่ชื่อ ดร. โจนาทาน เครน (ซิลเลียน เมอร์ฟี) ฤทธิ์ยาทำให้เขาประสาทหลอน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจาก อัลเฟรด เพนนีเวิร์ท (ไมเคิล เคน) หัวหน้าคนรับใช้ประจำตระกูล ด้วยยาแก้พิษที่พัฒนาโดยฟอกซ์
ต่อมา หลังจากที่ดอวส์ออกสืบหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับฟัลโคนีจนไปพบแผนการของ ดร. เครน ที่จะละลายสารพิษไปตามระบบประปาของเมืองกอตแทม เธอก็ถูกสารเคมีหลอนประสาทจากเครน แต่แบทแมนก็เข้ามาช่วยเธอไว้ได้ทัน และจัดการกับเครนด้วยสารเคมีของเขาเอง ตำรวจเข้ามาจับกุมเคนไว้ได้ ขณะที่แบทแมนพาดอวส์รบหนีไปที่ถ้ำค้างคาว หลังจากที่แบทแมนฉีดยาถอนพิษให้แก่ดอวส์แล้ว เขาก็ฝากยาถอนพิษอีก 2 ขวดให้เธอนำไปให้จ่ากอร์ดอน โดยขวดหนึ่งฉีดเข้าตัวของจ่ากอร์ดอนเอง ส่วนอีกขวดให้นำไปผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน
ขณะที่เวย์นจัดงานฉลองวันเกิดของเขาที่คฤหาสน์เวย์น เขาได้เผชิญหน้ากับดูคาร์ดและกลุ่มนินจาจากสหพันธ์แห่งเงา ดูคาร์ดได้เปิดเผยว่าตัวเขาเองคือราส์ อัลกูล ส่วนคนที่เวย์นฆ่านั้นเป็นตัวปลอม ราส์ได้กล่าวถึงแผนการที่จะล้างเมืองกอตแทมให้ปลอดจากมลทินและความฉ้อฉล ด้วยการแพร่สารพิษของเครนลงสู่ระบบประปาของเมือง และทำให้มันละเหยเป็นไอด้วยเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟที่ขโมยมาจากเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ เมื่อได้ยินดังนั้น เวย์นจึงล่อให้แขกในงานทั้งหมดออกไปจากคฤหาสน์โดยทำทีว่าเมาและกล่าวคำไม่สุภาพ หลังจากนั้น เขาจึงต่อสู้กับราส์ในขณะที่คฤหาสน์ถูกวางเพลิงโดยกลุ่มสหพันธ์แห่งเงา เวย์นเสียท่าแก่ราส์และคฤหาสน์ก็เริ่มพังทลาย แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลเฟรดทำให้เขารอดชีวิตมาได้
หลังจากเปลี่ยนตัวตนเป็นแบทแมน เขาได้เดินทางไปในเขตแออัดของเมืองเพื่อช่วยเหลือตำรวจในการปะทะกับกลุ่มคนไข้วิกลจริตจากสถานพักฟื้นอาร์กแฮม ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยสหพันธ์แห่งเงา เครน (ซึ่งตอนนี้เรียกตนเองว่า หุ่นไล่กา หรือ สแกร์โครว์) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้เหล่านั้นได้เข้าทำร้ายดอวส์ที่เดินทางมามอบยาถอนพิษให้กับกอร์ดอน แต่ดอวส์สามารถป้องกันตัวไว้ได้ แต่เมื่อคนไข้คนอื่น ๆ เริ่มติดตามเธอเข้ามา แบทแมนก็มารับตัวเธอไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและเปิดเผยอัตลักษณ์ที่แท้จริงของเขาให้เธอทราบ
แบทแมนได้มอบหมายให้กอร์ดอนนำรถแบทโมไบล์ของเขาไปหยุดการเดินทางของรถไฟฟ้าที่บรรทุกเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟไปสู่จุดศูนย์กลางระบบประปาของเมือง บนรถไฟฟ้า แบทแมนได้ขึ้นไปต่อสู้กับราส์อีกครั้ง เมื่อราส์เสียท่า แบทแมนจึงได้หลบหนีออกจากรถไฟ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่กอร์ดอนใช้มิสไซล์จากแบทโมไบล์ยิงโค่นเสาค้ำรางรถไฟฟ้าพอดี ส่งผลให้ราส์และรถไฟฟ้าขบวนนั้นตกลงมายังพื้นและระเบิดไปพร้อมเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟในที่สุด
หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป แบทแมนก็กลายเป็นวีรบุรุษของสาธารณะ เวย์นได้ซื้อหุ้นของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์คืนมาจนสามารถควบคุมองค์กรทั้งหมดได้และแต่งตั้งฟอกซ์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนเออรล์ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่สามารถจะปรองดองความรักกับดอวส์ได้อย่างสนิทใจ เนื่องจากชีวิตสองด้านของเขาระหว่างความเป็นเวย์นและความเป็นแบทแมน
ท้ายเรื่อง กอร์ดอน ที่ขณะนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นร้อยตำรวจโท ได้เรียกแบทแมนมารับทราบเกี่ยวกับอาชญากรคนใหม่ โดยมีหลักฐานในที่เกิดเหตุเป็นไพ่โจกเกอร์ กอร์ดอนกล่าวว่า อาชญากรผู้นี้ "หลงใหลมายา" เหมือนกับแบทแมน เมื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมด แบทแมนก็สัญญาว่าจะสืบสวนหาตัวอาชญากรผู้นี้ให้ กอร์ดอนกล่าวทิ้งท้ายว่าเขายังไม่ได้ขอบคุณในสิ่งที่แบทแมนทำลงไป ซึ่งแบทแมนได้กล่าวตอบว่า "คุณไม่ต้องทำเช่นนั้น" ก่อนที่เขาจะบินออกไปสู่ความมืดมิด
"เราจะใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในตัวแบทแมน เขามีพละกำลังก็เพราะวิดพื้น แล้วเขาเอาอาวุธทั้งหมดนั่นมาจากไหนน่ะเหรอ? ก็เพราะเขาเป็นเศรษฐีพันล้าน แล้วทำไมต้องใส่ชุดบ้านั่นน่ะเรอะ? ก็จะได้หลอกให้คนกลัวไง เพราะจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากสู้กับใครสักเท่าไรหรอก"
- คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์
มหาเศรษฐีพันล้านแห่งเมืองกอตแทม ผู้ซึ่งเสียบิดามารดาไปจากการถูกสังหารโดยโจรจี้ปล้นตั้งแต่อายุแปดขวบ เขาออกท่องเที่ยวไปในโลกกล้วเป็นเวลาหลายปีเพื่อค้นหาวิธีที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม เมื่อเขากลับมาสู่เมืองกอตแทม ในยามค่ำคืน เขาได้กลายเป็นแบทแมน ผู้ที่คอยปกป้องเมืองอย่างลับ ๆ จากเหล่าร้ายต่าง ๆ
ในการคัดเลือกผู้แสดงเป็นแบทแมนภาคนี้ ผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ได้วางตัวนักแสดงเอาไว้จำนวนหนึ่ง เช่น บิลลี ครูดับ, เจค จิลเลนฮาล, ฮิวจ์ แดนซี, โจชัว แจ็กสัน, เอียน ไบลีย์ และซิลเลียน เมอร์ฟี เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่แท้จริง คือ คริสเตียน เบล โดยได้รับเลือกเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546 เบลแสดงความสนใจที่จะเล่นบทนี้ตั้งแต่ช่วงที่ผู้กำกับภาพยนตร์ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี วางแผนว่าจะสร้างภาพยนตร์แบทแมนตามฉบับของเขาขึ้นมา เบลรู้สึกว่าภาพยนตร์แบทแมนเรื่องก่อนหน้านั้นสนใจตัวละครแบทแมนน้อยเกินไป แต่กลับทุ่มเทความสำคัญให้กับตัวละครวายร้ายเสียมากกว่า
โนแลนกล่าวถึงเบลว่า "เขาเป็นคนที่มีความสมดุลระหว่างด้านมืดกับด้านสว่างที่เด่นชัดอย่างที่เรากำลังตามหาอยู่" ส่วนเดวิด เอส. โกเยอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์กล่าวว่า ขณะที่นักแสดงบางคนสามารถแสดงเป็นบูรซ เวย์น หรือแบทแมนที่ยิ่งใหญ่ (ด้านเดียว) ได้ เบลสามารถแสดงเป็นแบทแมนที่มี 2 บุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่งได้ โดยเบลได้อธิบายว่า ในเรื่องนี้เขาต้องแสดงเป็นบรูซ เวย์น ถึง 4 อารมณ์ด้วยกัน ได้แก่ 1) เป็นคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยความแค้น 2) สวมบทบาทเป็นแบทแมนที่เกรี้ยวกราดเดือดดาล 3) แสร้งทำเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่โง่เง่าเพื่อปกปิดตัวตน และ 4) เป็นผู้ใหญ่ที่ค้นพบจุดมุ่งหมายของชีวิต ความไม่ชอบชุดแบทแมนของเบลที่ใส่แล้วร้อนเป็นประจำ ยิ่งทำให้เบลเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกทั้งสี่ได้ดีขึ้น โดยเขาได้กล่าวว่า "ชุดแบทแมนสื่อความหมายถึงความน่ากลัว และ (เวลาคุณใส่มัน) คุณจะกลายเป็นสัตว์ร้ายในชุดนั้น อย่างที่แบทแมนควรจะเป็น ไม่ใช่แค่คนที่ใส่ชุดอยู่ แต่ (ต้องกลายเป็น) สัตว์ประหลาดอีกชนิดหนึ่งไปเลย"
เนื่องจากเบลได้ลดน้ำหนักไปเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมแสดงภาพยนตร์เรื่อง หลอน...ไม่หลับ (The Machinist) ก่อนหน้าการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาจึงไปจ้างผู้ฝึกสอนด้านฟิตเนสส่วนตัวมาช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่เขาเป็นจำนวนหนึ่งร้อยปอนด์ ภายในเวลา 2 เดือน เพื่อให้ร่างกายพร้อมในการรับบทบาทแบทแมน ในช่วงแรก การเพิ่มนำหนักของเขาเป็นไปด้วยดี แต่หลังจากที่เขาตระหนักว่าการมีเรือนร่างที่ใหญ่โตไม่น่าจะเหมาะสมกับการเป็นแบทแมนที่อาศัยความเร็วและการวางกลยุทธ์เป็นหลัก เขาจึงตัดสินใจลดกล้ามเนื้อบางส่วนที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นลง ส่วนเรื่องของการวางท่าทางต่าง ๆ ในภาพยนตร์ เบลได้ศึกษาจากภาพวาดและการ์ตูนแบทแมนเพื่อนำมาเป็นต้นแบบ
นอกจากคริสเตียน เบล ที่มารับบทบาทของบรูซ เวย์น วัยหนุ่มแล้ว ก็ยังมีกัส เลวิส ที่มารับบทบาทของบรูซ เวย์น วัยเด็กเมื่อมีอายุ 8 ปี อีกด้วย
หัวหน้าคนรับใช้ประจำตระกูลเวย์นตั้งแต่รุ่นบิดามารดาของบรูซ เวย์น ซึ่งหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว อัลเฟรดก็ได้แสดงความภักดีด้วยการเลี้ยงดูบรูซ เวย์น ต่อ เขาคือคนที่บรูซสนิทสนมและไว้วางใจมากที่สุด โนแลนได้มอบบทบาทนี้ให้กับไมเคิล เคน เนื่องจากเขารู้สึกว่าเคนมีองค์ประกอบที่สามารถแสดงเป็นพ่อเลี้ยงได้
แม้ว่าในภาพยนตร์จะพรรรนาถึงปูมหลังของครอบครัวของอัลเพรดไว้ว่า ทำหน้าที่รับใช้ตระกูลเวย์นมาหลายรุ่นหลายสมัย เคนก็ยังสร้างปูมหลังเพิ่มเติม โดยก่อนที่อัลเฟรดจะมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับใช้ เขาได้ทำงานให้กับหน่วยรบพิเศษทางอากาศมาก่อน ซึ่งหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ โทมัส เวย์น ก็ได้เชิญเขามาทำงานด้วย เพราะ "เขาต้องการหัวหน้าคนรับใช้ แต่ต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่าหัวหน้าคนรับใช้ทั่วไป..."
แม้ว่าจะเรียกตัวเองว่า "เฮนรี ดูคาร์ด" แต่แท้จริงแล้วเขาคือ "ราส์ อัลกูล" ตัวร้ายของเรื่อง เขาคือผู้นำกลุ่มสหพันธ์แห่งเงาและผู้ฝึกสอนบรูซ เวย์น ให้รู้จักศิลปะป้องกันตัวแบบนินจิสึ
โกเยอร์แสดงความรู้สึกต่อตัวละครตัวนี้ว่า เขามีความซับซ้อนมากที่สุดในบรรดาตัวละครตัวร้ายทั้งหมดของการ์ตูนชุดแบทแมน โดยเขาได้นำราส์ อัลกูล ไปเปรียบกับอุซามะห์ บิน ลาดิน แล้วกล่าวว่า "เขาไม่ได้บ้าหรือหมกมุ่นอยู่กับความแค้นเหมือนกับตัวร้ายตัวอื่นในเรื่องแบทแมน ที่จริงแล้วเขาพยายามจะเยียวยาโลกใบนี้ แต่วิธีการที่เขาเลือกใช้ ดันเป็นวิธีที่หยาบกระด้างและอันตรายมากเท่านั้นเอง"
ในด้านของเลียม นีสัน ผู้ที่สวมบทบาทนี้ ในตอนแรกเขาได้รับเลือกให้มารับบทเป็นผู้ฝึกสอนของบรูซ เวย์น เท่านั้น แต่หลังจากที่มีการเปิดเผยข่าวว่า เขาจะต้องแสดงเป็นตัวร้ายของเรื่องด้วย ก็ทำให้เกิดความประหลาดใจในหมู่นักวิจารณ์และผู้ชมภาพยนตร์อย่างมาก
เธอเป็นเพื่อนของบรูซ เวย์น ตั้งแต่เด็ก ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอัยการเขตของเมืองกอตแทม และคอยต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในเมือง ในตอนแรก โกเยอร์ตั้งใจจะใส่ตัวละคร ฮาร์วีย์ เดนต์ ลงไปแทนแรเชล แต่ทางทีมงานก็เปลี่ยนใจเสียก่อน โดยได้กล่าวว่า "เราไม่สามารถทำให้ฮาร์วีย์ (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ทูเฟส ตัวร้ายอีกตัวในการ์ตูนแบทแมน) เป็นความยุติธรรมได้"
โนแลนกล่าวถึงโฮล์มส์ว่า เขาค้นพบ "ความอบอุ่นอันมหาศาลและแรงดึงดูดทางอารมณ์อันยิ่งใหญ่" ในตัวเธอ และยังรู้สึกว่า "เธอมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าอายุของเธอเอง...ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นแก่นที่นำไปสู่ความคิดที่ว่า แรเชลคือบางสื่งที่เป็นตัวแทนของสำนึกผิดชอบชั่วดีของบรูซ"
นักจิตเภสัชวิทยาที่ทำงานให้กับสถานพักฟื้นอาร์กแฮม เขามักใช้สารพิษชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์หลอนประสาทให้เกิดความกลัว และหน้ากากหุ่นไล่กาของเขา เพื่อข่มขู่คนอื่น ๆ และเพื่อศึกษาความกลัวและโรคที่เกี่ยวกับความกลัวต่าง ๆ
ในการเตรียมตัว ซิลเลียน เมอร์ฟี ผู้แสดง ได้หาหนังสือการ์ตูนที่มีตัวละครสแกร์โครว์มาอ่านหลายเล่ม และนำไปถกเถียงกับโนแลนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวละครสแกร์โครว์ในภาพยนตร์ เมอร์ฟีได้อธิบายว่า "ผมไม่ต้องการภาพลักษณ์ของหุ่นไล่กาแบบในเรื่องวอร์เซล กัมมิดจ์ (นิยายเด็กของอังกฤษที่เล่าถึงหุ่นไล่กาที่พูดได้และเดินได้) เพราะสแกร์โครว์ในแบทแมนไม่เก่งในด้านการใช้กำลังเอาเปรียบ เขามีความสนใจในการควบคุมจิตใจและอะไรที่สามารถทำได้นอกจากนั้นมากกว่า"
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ฉ้อฉลที่เหลืออยู่ไม่กี่คนในเมืองกอตแทม เขามีสายใยพิเศษกับบรูซ/แบทแมน เพราะเขาเคยปฏิบัติหน้าที่และดูแลบรูซในคืนที่พ่อและแม่ของบรูซถูกฆาตกรรม
แต่เดิมนั้น คริส คูเปอร์ ได้รับเลือกให้มาแสดงในบทบาทนี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธไปเพราะเขาต้องการจะใช้เวลากับครอบครัวมากกว่า ส่วนโอลด์แมนนั้น ในช่วงแรก ทางโนแลนต้องการให้เขาแสดงเป็นตัวละครตัวร้าย แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจให้มาแสดงเป็นตัวละครฝ่ายดีในบทนี้แทน โดยโอลด์แมนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
โอลด์แมนกล่าวถึงการมาแสดงในบทจิม กอร์ดอน ว่า "ผมได้รวบรวมหลักต่าง ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของครอบครัว ความกล้าหาญและความเห็นใจ และความตระหนักในเรื่องถูกและผิด ดีและเลว และความยุติธรรม เข้าด้วยกัน และทำมันให้กลายเป็นรูปธรรม" ส่วนโกเยอร์กล่าวถึงโอลด์แมนว่า เขามีส่วนคล้ายกับกอร์ดอนที่วาดโดย เดวิด มัซซุกเกลลี ในหนังสือการ์ตูนแบทแมน : เยียร์วัน อย่างมาก
พนักงานระดับสูงของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ที่ถูกลดชั้นมาทำงานในแผนกวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่ซึ่งเขาได้ศึกษาวิจัยทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลและชีวเคมี ฟอกซ์ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณืต่าง ๆ แก่บรูซเพื่อให้สำเร็จภารกิจต่าง ๆ ของแบทแมน หลังจากที่บรูซกลับมาเป็นเจ้าของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ ฟอกซ์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท
เจ้าพ่ออาชญากรไร้ความปราณี ผู้ควบคุมสังคมของคนนอกกฎหมายและผู้มีอำนาจหลาย ๆ คนในเมืองกอตแทม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไร้ศีลธรรม ผู้ดูแลกิจการของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ช่วงที่บรูซหายตัวไป
ผู้ที่ถูกเฮนรี ดูคาร์ด ว่าจ้างให้แสดงเป็นราส์ อัลกูล แทนเขา เพื่อปกปิดอัตลักษณ์ที่แท้จริงเอาไว้
ตำรวจฉ้อฉลผู้เป็นคู่หูของกอร์ดอนในกรมตำรวจเมืองกอตแทม เขาทำงานให้ฟัลโคนีในการคุ้มกันการลักลอบขนถ่ายยาเสพติด
ชาวเมืองกอตแทมคนสุดท้ายที่พบบรูซก่อนที่เขาจะหนีออกจากเมืองไป และเป็นคนแรกที่ได้เห็นการปรากฏตัวของแบทแมน
แบทแมน บีกินส์ ผลิตโดยบริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วยงบประมาณการสร้าง 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ และประพันธ์บทภาพยนตร์ร่วมโดยโนแลนและเดวิด เอส. โกเยอร์
โนแลนด์กล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะนำเสนอภาพยนตร์แบทแมนในรูปแบบใหม่ โดย "จะสร้างเรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิดของตัวละคร ที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน" (ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจในส่วนนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์แมน (Superman, พ.ศ. 2521) ของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ ที่เน้นการเล่าเรื่องถึงการเติบโตของตัวละครเป็นหลัก) และยังจะนำความเป็นมนุษย์และความเหมือนจริงมาใช้เป็นพื้นฐานอีกด้วย ตามที่เขาได้กล่าวว่า "โลกของแบทแมนจะต้องมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงที่สามารถรับรู้ได้ ร่วมสมัย และฝืนจินตนาการความเป็นวีรบุรุษเกินจริง" ส่วนโกเยอร์กล่าวว่า เป้าประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการทำให้ผู้ชมสนใจทั้งตัวแบทแมนและบรูซ เวย์น อย่างเท่าเทียมกัน
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนแบทแมนตอนต่าง ๆ ได้แก่ แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ เรื่องสั้นที่เล่าถึงการเดินทางทั่วโลกของบรูซ เวย์น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดฉากที่บรูซในวัยเด็กพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ ในช่วงแรก ๆ ของภาพยนตร์ เนื้อเรื่องของ แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน ประพันธ์โดย เจฟ โลบ และวาดโดย ทิม เซล ก็ส่งอิทธิพลต่อโกเยอร์ในการประพันธ์บทภาพยนตร์ และการออกแบบตัวละคร คาร์ไมน์ ฟัลโคนี ส่วน แบทแมน : ดาร์กวิคทอรี (Batman : Dark Victory) ภาคต่อของภาค เดอะลองฮัลโลวีน ก็ส่งอิทธิพลมาถึงภาพยนตร์ไม่แพ้กัน นอกจากนั้น โกเยอร์ยังได้นำรายละเอียดหลาย ๆ ส่วนจาก แบทแมน : เยียร์วัน ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ ทั้งโครงเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาตำรวจคอร์รัปชันที่บีบบังคับให้จ่า จิม กอร์ดอน และเมืองกอตแทมต้องการคนอย่างแบทแมนมาช่วยเหลือ, เนื้อเรื่องตอนที่บรูซหายตัวไปจากเมืองกอตแทมอย่างขาดสติ, รวมไปถึงรายละเอียดของตัวละครจิม กอร์ดอน มาใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย
ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โนแลนต้องการที่จะดึงดูดใจผู้ชมได้ทุกรุ่นทุกวัยโดยที่เขาตัดสินใจไม่ถ่ายทำฉากโชกเลือดใด ๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับเยาวชน โดยเขาได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าหนังของพวกเรามีเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นรุนแรงไปสำหรับเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย แต่ผมก็ไม่อยากที่จะกันเด็กอายุ 10-12 ปี ไม่ให้มาดูหนังเรื่องนี้ เพราะตอนผมเด็ก ผมก็รักที่จะดูหนังประเภทที่ผมทำเหมือนกัน"
การถ่ายทำภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ที่ภูเขาน้ำแข็งวัตนาโจคุลในประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อถ่ายทำฉากของภูเขาหิมะในประเทศภูฏาน ที่นี่ ทีมงานต้องสร้างฉากหมู่บ้าน ถนนเดินเท้า และประตูหน้าของวัดของราส์ อัลกูลเพิ่ม อุปสรรคในการถ่ายทำฉากนี้อยู่ที่สภาพอากาศที่มีทั้งลมความเร็ว 121 กิโลเมตร/ชั่วโมง (75 ไมล์/ชั่วโมง)ฝน รวมถึงหิมะที่มีปริมาณน้อยกว่าความต้องการ วิธีการถ่ายทำในฉากนี้ วัลลี พิฟ์สเตอร์ ผู้กำกับภาพ ได้ใช้เครนและกล้องมือถือในการถ่ายทำ
สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่อังกฤษ โดยเฉพาะที่สตูดิโอเชปเพอร์ตัน ฉากที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทำที่นี่คือฉากถ้ำค้างคาว ซึ่งมีความยาว 76 เมตร (250 ฟุต) กว้าง 37 เมตร (120 ฟุต) และสูง 12 เมตร (40 ฟุต) พร้อมด้วยโขดหินที่หล่อมาจากถ้ำจริง ๆ และเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่แนทาน โครวลีย์ ผู้ออกแบบงานสร้าง ติดตั้งเอาไปเพื่อใช้สร้างน้ำตก 12,000 แกลลอน
นอกจากที่สตูดิโอแห่งนี้แล้ว ยังมีสถานที่อื่น ๆ ในอังกฤษที่ใช้เป็นฉากในการถ่ายทำด้วย ได้แก่ โรงเก็บเครื่องบินที่คาร์ดิงตัน เบดฟอร์ดไชร์ ใช้ถ่ายทำฉากรถไฟฟ้าในเมืองกอตแทม โดยทางกองถ่ายได้สร้างรางรถไฟรางเดี่ยวบนฉากยาว 270 เมตร (900 ฟุต) ขึ้นที่นี่, หอคอยเมนต์มอร์ ใช้ถ่ายทำฉากคฤหาสน์เวย์น โดยโนแลนและโครวลีย์เปิดเผยว่าที่เลือกที่นี่เพราะชอบพื้นสีขาวของมัน ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับบิดามารดาของบรูซ, ส่วนอาคารที่ถูกเลือกเป็นฉากสถานพักฟื้นอาร์กแฮมคืออาคารของสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ในมิลล์ฮิลล์ บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน, สถานีรถไฟเซนต์แพนครัสกับสถานีจ่ายน้ำแอบบีย์มิลล์สก็ถูกใช้เป็นฉากภายในอาคารของอาร์กแฮม, ส่วนฉากห้องพิจารณาคดีนั้น ทีมงานได้ใช้มหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ
ในบางฉาก เช่นฉากขับรถไล่ล่า ทางทีมงานก็ใช้สถานที่ถ่ายทำในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนแวคเกอร์ไดรฟ์และอาคาร 35 อีสต์แวคเกอร์ นอกจากนั้น ทางการของชิคาโกยังอนุญาตให้ยกสะพานถนนแฟรงคลินเพื่อถ่ายทำฉากเส้นทางที่เข้าสู่เขตแออัดของเมืองกอตแทมด้วย
สำหรับงานออกแบบของ แบทแมน บีกินส์ โนแลนได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ไซไฟคัลต์เรื่อง เบลดรันเนอร์ (Blade Runner, พ.ศ. 2525) ซึ่งเขาได้กล่าวถือโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "เป็นบทเรียนอันน่าสนใจแห่งการเสาะแสวงหาและอธิบายจักรวาลที่เชื่อถือได้และไร้ขอบเขต" โนแลนได้ถ่ายทอด เบรดรันเนอร์ ให้วัลลี พิฟ์สเตอร์ และผู้กำกับภาพอีก 2 คนได้ชม เพื่อแสดงให้พวกเขาได้เห็นและเข้าใจทัศนคติและรูปแบบที่เขาต้องการจากภาพยนตร์เรื่องนี้
ในการออกแบบเมืองกอตแทม โนแลนและแนทาน โครว์ลีย์ ได้ร่วมกันคิดหาภาพลักษณ์ของเมืองกอตแทมสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยพิจารณาจากแบบจำลองของเมืองที่โครว์ลีย์สร้างไว้ในโรงจอดรถของโนแลน ทั้งสองออกแบบเมืองกอตแทมโดยเน้นที่ความใหญ่และทันสมัย สามารถสะท้อนสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบที่เมืองนี้ได้รับอิทธิพล ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเมือง ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองนิวยอร์ก ชิคาโก และกรุงโตเกียว โดยเมืองหลังสุดนั้น ถือเป็นต้นแบบของการออกแบบฉากรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่อยู่ในเมือง นอกจากนั้น พวกเขายังนำภาพความแออัดของเมืองกำแพงเกาลูน ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2536 มาใช้ออกแบบฉากชุมชนแออัดในเมืองกอตแทมอีกด้วย
รถค้างคาว (Batmobile) ในภาพยนตร์ชุดแบทแมนภาคนี้มีชื่อว่า ทัมเบลอ (Tumbler) เป็นรถที่มีที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับรถถังหุ้มเกราะของทหาร ซึ่งถือว่าแตกต่างไปจากรถค้างคาวในภาพยนตร์ภาคอื่น แต่ใกล้เคียงกับรถค้างคาวในหนังสือการ์ตูนเรื่อง แบทแมน : เดอะดาร์กไนท์รีเทิร์นส์ (Batman: The Dark Knight Returns) ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ มากที่สุด
แนทาน โครว์ลีย์ เริ่มต้นการออกแบบรถคันนี้ด้วยการทดลองสร้างแบบจำลองออกมา 6 คัน ในอัตราส่วน 1:12 โดยใช้เวลาในการสร้าง 4 เดือน ต่อจากนั้นจึงนำแบบจำลองมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสเกลโมเดล โดยใช้โฟมสไตโรขนาดใหญ่เป็นวัตถุดิบ และใช้เวลาแกะสลัก 2 เดือนโดยทีมงาน 30 คน ซึ่งในจำนวนนั้นได้รวมถึงโครว์ลีย์ และคริส คัลเวิร์ต กับแอนนี สมิท ผู้เป็นวิศวกร ด้วย ต่อมา แบบจำลองสเกลโมเดลดังกล่าว ก็ถูกนำไปสร้างเป็นรถเหล็กกล้าเพื่อใช้ทดลองขับ ผลการทดลองปรากฏว่ารถมีความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (100 ไมล์/ชั่วโมง) โดยสามารถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง (60 ไมล์/ชั่วโมง) ได้ภายใน 5 นาที และสามารถควบคุมรถให้เลี้ยวโค้งแบบหักศอกได้ ซึ่งผลเหล่านี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เมื่อถึงขั้นการทดสอบการกระโดดของรถ ปรากฏว่าส่วนหน้าของรถก็เกิดพังขึ้นมาในการทดสอบครั้งแรก เป็นผลให้ต้องมีการสร้างรถขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
องค์ประกอบพื้นฐานของรถทัมเบลอที่ถูกออกแบบใหม่ ประกอบด้วยเครื่องยนต์ วี8 เชวี 5.7 ลิตร เพลาของรถบรรทุกที่ติดตั้งไว้เป็นเพลาล้อหลัง ยางล้อหน้าจากฮูซิเออร์ ยางล้อหลังจากอินเตอร์โค. และระบบวางลอยของรถบรรทุกแข่งบาจา กระบวนการออกแบบและพัฒนาทั้งหมดใช้เวลา 9 เดือน และค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นสุดการออกแบบ รถทัมเบลอพร้อมขับ 4 คันก็ถูกสร้างขึ้น โดยแต่ละคันจะประกอบด้วยหน้าปัดคาร์บอนไฟเบอร์ 65 อัน จอภาพที่เชื่อมต่อกับกล้องบนตัวรถเพื่อให้ผู้ขับใช้มองเส้นทาง (เนื่องจากการมองดูเส้นทางจากภายในรถโดยตรงนั้นทำได้ยาก) และค่าใช้จ่ายในการสร้าง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ รถ 2 จาก 4 คันนี้ได้รับการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษบางประการเข้าไป คันหนึ่งติดตั้งระบบไฮโดรลิคและปีกซ่อน เพื่อให้ดูเหมือนรถมีความสามารถในการลอยตัวอยู่กลางอากาศเวลาที่ถ่ายทำฉากรถกระโดดระยะใกล้ ส่วนอีกคันติดตั้งเครื่องไอพ่นที่ใช้ได้จริง โดยเครื่องนี้ใช้แก๊สโพรเพน 6 ถังด้วยกัน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับทัมเบลอในภาพยนตร์ คือนักขับรถมืออาชีพ ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการขับมาแล้ว 6 เดือนด้วยกัน นอกจากนั้น ยังมีการสร้างรถบังคับวิทยุทัมเบลออัตราส่วน 1:5 เพื่อใช้ในการถ่ายทำฉากที่รถบินข้ามหุบเขาและอาคารด้วย
ส่วนภายในของรถที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์นั้น เป็นฉากที่ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้ต่างจากส่วนภายในของรถทัมเบลอที่ขับได้จริง โดยมีขนาดกว้างกว่าของจริงเพื่อนำกล้องเข้าไปถ่ายทำภายในได้
ชุดค้างคาวของแบทแมนในภาคนี้ เน้นการออกแบบให้ผู้สวมใส่สะดวกในการเคลื่อนที่ ทำท่าทางในการต่อสู้ต่าง ๆ รวมถึงการก้มตัว ซึ่งต่างจากภาคก่อนหน้าที่ชุดไม่ยืดหยุ่น โค้งงอลำบาก และที่สำคัญคือ มักจะจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนหัวของผู้ใส่ การออกแบบชุดในภาคนี้ เป็นหน้าที่ของ ลินดี เฮมมิง และทีมงานฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายของเธอ พวกเธอออกแบบชุดค้างคาวในสถานที่ทำงานที่มีรหัสว่า "เคปทาวน์" โดยตั้งอยู่ในสตูดิโอเชปเพอร์ตัน กรุงลอนดอน ในขั้นแรกนั้น ชุดแบทแมนถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ยางเทียมเป็นวัตถุดิบ และนำไปขึ้นรูปโดยหล่อแบบครีมลาเทกซ์ โดยทีมงานได้ไปหล่อแบบจากร่างกายของคริสเตียน เบล โดยตรง เมื่อขึ้นรูปชุดแล้วจึงมาแกะสลักร่วมกับดินน้ำมันและนำแพลสทิลีนมาเกลี่ยพื้นผิวให้เรียบ นอกจากนั้นแล้ว ทีมงานยังได้ทดลองผสมโฟมที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพื่อหาส่วนผสมที่มีความยืดหยุ่น เบา ทนทาน และมีสีดำที่สุด เพื่อนำมาสร้างชุด แต่การทดลองนั้นก็เกิดปัญหา เมื่อส่วนผสมที่ทำให้โฟมเป็นสีดำกลับไปลดความทนทานของมัน ส่วนผ้าคลุมที่ติดอยู่กับชุดนั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ คริสโตเฟอร์ โนแลน ต้องการให้มันสามารถ "พริ้วไหวได้เหมือนภาพในหนังสือการ์ตูนแบทแมนชั้นเยี่ยมหลาย ๆ เรื่อง" โดยทางเฮมมิงได้เลือกใช้เส้นใยไนลอนที่ใช้ทำร่มชูชีพ สามารถหดตัวได้เมื่อเกิดไฟฟ้าสถิตย์ และมีโอกาสถูกตรวจจับในที่มืดได้น้อย มาเป็นวัตถุดิบในการสร้าง ซึ่งในขั้นตอนการสร้างนั้น ทางทีมงานได้รับความร่วมมือจากทางกระทรวงกลาโหมอังกฤษด้วย
ส่วนบนของผ้าคลุมได้ถูกเชื่อมต่อกับหน้ากากค้างคาวที่ครอบทั้งศีรษะของผู้สวมใส่ ซึ่งได้รับการออกแบบร่วมกันโดยโนแลน เฮมมิง และแกรแฮม เชิร์ชยาร์ด ผู้เชี่ยวชาญเอฟฟเฟคต์เครื่องแต่งกาย หน้ากากนี้ถูกสร้างให้มีความบางเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวศีรษะ แต่ก็หนาพอที่จะกันการฉีกขาด นอกจากนั้น ยังสามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และคาแรคเตอร์ของแบทแมนได้ชัดเจน
สำหรับสเปเชียลเอฟเฟคต์ที่ใช้สร้างฉากต่าง ๆ ใน แบทแมน บีกินส์ ทางทีมงานได้ใช้ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพจากสเกลโมเดล เช่น ฉากเขตแออัดในเมืองกอตแทม และวัดของราส์ อัลกูล และการสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจีไอ) และดิจิตอล อย่างฉากสิ่งปลูกสร้างในเมืองที่มีท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ฉากที่แสดงให้เห็นด้านนอกของรถไฟฟ้าและอาคารเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ และฉากฝูงค้างคาวที่ตัวค้างคาวได้รับการสแกนต้นแบบมาจากซากค้างคาวจริง เป็นต้น นอกจากนั้น บางฉากยังใช้เทคนิคที่ผสมผสานทั้งการแสดงสด การถ่ายทำแบบจำลอง และการสร้างภาพด้วยซีจีไอเข้าไว้ด้วยกันด้วย เช่น ฉากการต่อสู้ระหว่างแบทแมนกับราส์ อัลกูล บนรถไฟฟ้าช่วงท้ายเรื่อง ส่วนฉากอื่น ๆ ที่เป็นฉากต่อสู้นั้น คริสโตเฟอร์ โนแลน มุ่งเน้นที่จะใช้การแสดงผาดโผนแบบดั้งเดิมมากกว่าการสร้างการเคลื่อนไหวของตัวละครด้วยซีจีไอ
ผู้ที่มีหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ แฮนส์ ซิมเมอร์ และ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ทั้งสองเริ่มต้นงานนี้ครั้งแรกในนครลอสแอนเจลิสก่อนที่จะย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พวกเขาสร้างดนตรีประกอบความยาวร่วม 2 ชั่วโมง 20 นาทีขึ้นมา โดยค้นหาแรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมชมกองถ่ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งคู่แบ่งงานในการประพันธ์ออกเป็น 2 ส่วน โดยซิมเมอร์ได้รับหน้าที่ประพันธ์เพลงประกอบฉากแอคชัน ส่วนโฮเวิร์ดประพันธ์เพลงในส่วนที่เน้นความเป็นดรามา นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งให้คนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงตัวบรูซ เวย์น และอีกคนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงบรูซเวลาอยู่ภายใต้หน้ากากแบทแมนด้วย
ซิมเมอร์นั้น ในตอนแรกโนแลนตั้งใจจะเชิญเขาให้มาร่วมงานด้วยเพียงผู้เดียว แต่หลังจากที่ซิมเมอร์ได้เสนอว่าควรจะเชิญโฮเวิร์ดมาด้วย โนแลนก็ตอบตกลง สำหรับดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซิมเมอร์ตั้งใจที่จะผสมเสียงเพลงแบบออเคสตราให้เข้ากับเสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้าเพื่อเป็นการสร้างแนวดนตรีที่ต่างจากแบบเดิม ๆ วงออเคสตราที่เขาใช้ทำงานนั้นประกอบด้วยเครื่องดนตรี 90 ชิ้นด้วยกัน โดยพิเศษตรงที่มีเชลโลมากกว่าที่ใช้กันตามวงออเคสตราทั่วไป ส่วนสมาชิกในวงนั้นก็ได้รับเลือกจากวงออเคสตราที่อยู่กรุงลอนดอนหลาย ๆ วง นอกจากนั้น ยังมีนักร้องเด็กผู้ชายเสียงโซปราโนที่ซิมเมอร์เกณฑ์มาช่วย เพื่อให้มาสะท้อนอารมณ์เพลงในฉากที่แสดงถึงความทรงจำที่บรูซมีต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับบิดามารดาของเขาด้วย
แดนนี ฟิงเกอรอท นักประพันธ์และนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน กล่าวว่า ประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ "ความกลัว" ซึ่งถูกกล่าวเป็นนัยให้เห็นตลอดเรื่อง บทบาทสำคัญของความกลัวในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเป็นตัวแปลสำคัญที่ทำให้ตัวละครบรูซ เวย์น กลายเป็นวีรบุรุษอย่างแบทแมน โดยคริสโตเฟอร์ โนแลน ได้กล่าวว่า แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความเป็นแบทแมนในภาคนี้ก็คือ "บุคคลผู้หนึ่ง (บรูซ) ที่พยายามเผชิญหน้ากับความกลัวที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดในตัวเขา และพยายามที่จะกลายเป็นความกลัวเสียเอง" นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องความกลัวจนถึงขีดสุดยังถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านทางตัวละครตัวร้ายอย่าง สแกร์โครว์ ผู้ที่ใช้สารพิษหลอนประสาทเพื่อทำให้เกิดภาพลวงตาที่น่ากลัว
ฟิงเกอรอทยังกล่าวว่า การค้นหาตัวแทนบิดาของบรูซ เวย์น ที่เสียชีวิตไป ก็ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาอธิบาย โดยตัวละครที่เสมือนเป็นตัวแทนของบิดาของเขานั้น ได้แก่ อัลเฟรด เพนนีเวิร์ท, เฮนรี ดูคาร์ด และลูเซียส ฟอกซ์ ซึ่งในที่นี้ ฟิงเกอรอทได้ให้ความเห็นว่า อัลเฟรดเหมาะสมที่จะเป็นบิดาที่บรูซสามารถพึ่งพาอาศัยได้มากที่สุด ลูเซียสก็ถือเป็นหลักอันมั่นคงของชีวิตบรูซได้ เพราะความสุขุมนิ่งเงียบของเขา ส่วนเฮนรีนั้น หากเป็นบิดา ก็เป็นบิดาที่เข้มงวดและไร้ความเห็นใจ ทางด้าน มาร์ก ฟิชเชอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟลอริดา ก็ได้กล่าวถึงฐานคติการหาตัวแทนของบิดาในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มีสาเหตุมาจากความพยายามที่จะค้นหาความยุติธรรมของบรูซเอง ที่ทำให้เขาต้องแสวงหาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากตัวแทนบิดาของเขา ซึ่งในที่นี้ ฟิชเชอร์ให้น้ำหนักตัวแทนบิดาของบรูซไปที่เฮนรี ดูคาร์ด โดยมีตัวเปรียบเทียบเป็นโทมัส เวย์น บิดาที่แท้จริงของบรูซเอง ส่วนอัลเฟรดนั้น ฟิชเชอร์ให้ความเห็นต่างจากฟิงเกอรอทว่า เป็นตัวละครที่เหมาะกับการเป็นตัวแทนของมารดาที่ให้ความรักต่อบรูซอย่างไม่มีเงื่อนไขมากกว่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคะแนนความนิยมจากเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์คิดเป็นร้อยละ 84 ซึ่งจัดอยู่ในระดับ "เฟรช" และได้รับคะแนนความนิยมเชิงบวกจากบทวิจารณ์ 40 เรื่องของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงในหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ และรายการวิทยุต่าง ๆ ที่รวบรวมโดยเว็บไซต์นี้เช่นกัน คิดเป็นคะแนนร้อยละ 62 ส่วนเว็บไซต์เมตาคริติกได้ให้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้ 70 คะแนน โดยคำนวณคะแนนเฉลี่ยจากรีวิว 41 ชิ้น สำหรับคำวิจารณ์โดยทั่วไปจากเว็บไซต์ทั้งสองนั้น ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นสัจนิยมที่อยู่เบื้องหลังตัวละครต่าง ๆ รวมไปถึงความสามารถของคริสโตเฟอร์ โนแลน ในการสร้างสรรค์ตัวละครที่มีความซับซ้อน และความสามารถของคริสเตียน เบล ในการแสดงเป็นแบทแมน
เจมส์ เบราร์ดิเนลลี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ยกย่องผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นภาพยนตร์แบทแมนที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในตัวแบทแมนได้มากขึ้นว่า "เขาคือใครและอะไรที่จูงใจให้เขาเป็นเช่นนั้น" ซึ่งเบราร์ดิเนลลีรู้สึกว่านี่คือส่วนที่ภาพยนตร์แบทแมนที่กำกับโดยทิม เบอร์ตัน (แบทแมน, พ.ศ. 2532 และ แบทแมนรีเทิร์น, พ.ศ. 2535) ยังขาดอยู่ ทางด้านไมเคิล วิลมิงตัน จากหนังสือพิมพ์ชิคาโกทริบูน ก็มีความเห็นว่าคริสโตเฟอร์ โนแลน และแฟรงก์ มิลเลอร์ สามารถสร้างส่วนผสมระหว่างเนื้อหาแนวชีวิตอันทรมานและบรรทัดฐานความแค้นให้เข้ากับลูกเล่นอันชื่นมื่นและการพาดพิงถึงหนังสือการ์ตูนได้อย่างพอเหมาะพอดี เป็นการนำภาพยนตร์แบทแมนออกจากความเป็นภาพยนตร์แนวฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยความดุเดือนรุนแรงอันสะเพร่า อย่างที่หนังแบทแมนภาคก่อน ๆ ได้หลงเข้าไป อีกด้วย ส่วนเคนเนท ทูแรน นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากหนังสือพิมพ์ลอสเองเจลิสไทมส์ ก็กล่าวว่า การดำเนินเรื่องตอนต้นอย่างช้า ๆ ด้วย "เนื้อเรื่อง จิตวิทยา และความเป็นจริง โดยไม่ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์" ช่วยให้ความมืดที่อยู่เบื้องหลังความคิดของแบทแมนโดดเด่นขึ้น
สำหรับทรรศนะที่ต่างออกไปนั้น เจ. อาร์. โจนส์ จากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชิคาโกรีดเดอร์ ได้วิจารณ์บทภาพยนตร์ของโนแลนกับโกเยอร์ว่าไม่ทำให้เกิดความสอดคล้องในเรื่อง "การสำรวจความเสียหายทางจิตใจของแบทแมน" ทางด้านเดวิด เดนบี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันประจำนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ ก็กล่าวต่างจากเบราร์ดิเนลลีและทูแรนว่า เขาไม่พอใจภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์แบทแมนของเบอร์ตัน การแสดงของคริสเตียน เบล ในเรื่องนี้ก็ถูกขัดขวางโดย "บทภาพยนตร์ที่จริงจังแบบโง่ ๆ" และไคลแมกซ์ของเรื่องก็ "ต่ำชั้นและไม่ตื่นเต้น"
แต่อย่างไรก็ดี ทิม เบอร์ตัน เอง กลับรู้สึกว่าโนแลนสามารถจับจิตวิญญาณที่แท้จริงที่ภาพยนตร์ประเภทนี้ควรจะมีในปัจจุบัน โดยเบอร์ตันได้อ้างถึงผลงานแบทแมนของตัวเองว่า "ตอนที่ผมสร้างหนังแบทแมนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ที่มาจากหนังสือการ์ตูนมีความแตกต่างจากตอนนี้ คือคุณจะไม่สามารถดึงด้านมืดของหนังสือการ์ตูนมาอยู่ในหนังได้เลย แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ด้านมืดของหนังสือการ์ตูนก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น และโนแลนก็สามารถเข้าถึงรากของหนังสือการ์ตูนแบทแมนได้เป็นอย่างดี"
ในภาพรวม ปฏิกิริยาที่มีต่อตัวละครและนักแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ถือว่าดี อย่างที่นิตยสารโททัลฟิล์มของสหราชอาณาจักรกล่าวไว้ว่า โนแลนสามารถสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องได้อย่างแข็งแรง เช่นเดียวกับเดนนิส โอนิล ผู้คัดลอกและบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าใจและสามารถแปลความหมายของตัวละครได้จริง และยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์แบทแมนในรูปแบบคนแสดงที่ดีที่สุด แต่สำหรับในระดับผู้แสดงแต่ละคนนั้น นักวิจารณ์ต่างมีทรรศนะที่แตกต่างกันไป โดยทูรันได้กล่าวว่า เลียม นีสัน กับแคที โฮล์มส์ ยังไม่เหมาะกับบทบาทที่ได้รับ ทั้งที่ "เป็นต้นแบบในหนังสือการ์ตูนและที่เป็นคนจริง ๆ" ไม่เหมือนคริสเตียน เบล ที่มีความสามารถสวมบทแบทแมนได้เข้าถึงกระดูกดำ ส่วนไมค์ คลาร์ก จากหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ ก็คิดว่าเบลสามารถแสดงบทแบทแมนได้ดีเท่ากับบทแพทริก เบตแมน ที่เขาแสดงเอาไว้ในเรื่อง อเมริกัน ไซโค (American Psycho, พ.ศ. 2543) ในทางกลับกัน สเตฟานี แซชาเรก จากเว็บไซต์ซาลอนดอตคอม กลับรู้สึกว่าโนแลนไม่ได้ส่งความรู้สึกว่าแบทแมนคือ "ยอดมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและความทรมานมากที่สุด" ในเชิงลึก และเธอยังคิดว่าเบลล้มเหลวในการเชื่อมต่อบรูซ เวย์น เวลาอยู่ใต้หน้ากากแบทแมนกับผู้ชม ต่างจากแกรี โอลด์แมน ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการแสดง "อารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน"
สำหรับบทโรแมนติคระหว่างเบลกับโฮล์มส์นั้น เบราร์ดิเนลลีกล่าวถึงประเด็นนี้ว่ายังดูด้อยอยู่ เนื่องจากนักแสดงทั้งสองยังขาดสิ่งที่เรียกว่าวิถีทางที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (chemistry) ในแบบที่คริสโตเฟอร์ รีฟ กับมาร์กอต คิดเดอร์ ในภาพยนตร์ ซูเปอร์แมน หรือ โทบีย์ แม็คไกวร์ กับเคิร์สเทน ดันสต์ ในภาพยนตร์ ไอ้แมงมุม (Spider-man, พ.ศ. 2545) มี ทางด้านคลาร์กก็กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างบรูซ เวย์น กับราเชล ดอวส์ "ด้อยพัฒนาอย่างน่าท้อแท้" ส่วนนิตยสารโททัลฟิล์มกล่าวถึงด้านบวกของประเด็นนี้ว่า โครงเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างเบลและโฮล์มส์ดูไม่ครวญคราง หากเทียบกับคู่ของปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ กับแมรี เจน ใน ไอ้แมงมุม
แบทแมน บีกินส์ เข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยมีจำนวนโรงฉาย 3,858 โรง และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 55 โรง สามารถสร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งประจำสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย โดยมีรายได้รวมทั้งหมด 205,343,774 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงเป็นอันดับ 8 สำหรับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยคิดเป็นรายได้รวม 5 วันแรกเท่ากับ 72.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ชุดแบทแมนทุกเรื่อง โดยทำลายสถิติของภาค แบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ศึกจอมโจรอมตะ (Batman Forever) เมื่อปี พ.ศ. 2538 นอกจากนั้นยังทำลายสถิติรายได้รวม 5 วันแรกสำหรับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ ด้วยจำนวนเงิน 3.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย
สำหรับผลงานในระดับนานาชาติ รายได้รวมทั่วโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 371,853,783 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นอันดับสามของภาพยนตร์ชุดแบทแมนทั้งหมด โดยเป็นรองเรื่อง แบทแมน (411,348,924 ดอลลาร์สหรัฐ) และ แบทแมน อัศวินรัตติกาล (984,599,547 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อโรงฉาย ซึ่งอยู่ที่ 12,634 ดอลลาร์สหรัฐ/โรงฉาย แล้ว ถือเป็นสถิติที่น้อยที่สุด เหตุเพราะเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายหลายโรง แต่จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ได้น้อยกว่าภาพยนตร์แบทแมนเรื่องอื่น (โดยไม่นับรวมสถิติของเรื่อง แบทแมนแอนด์โรบิน)
ในประเทศไทย แบทแมน บีกินส์ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 สามารถเปิดตัวสัปดาห์แรกด้วยรายได้สูงสุดประจำสัปดาห์ที่ 952,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 39,098,877 บาท และยังครองอันดับหนึ่งมาอีกหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะตกไปอยู่อันดับที่สามในสัปดาห์ที่ 3 ที่เข้าฉาย
ในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 แบทแมน บีกินส์ ได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลภาพยนตร์สาขาต่าง ๆ หลายรายการ ทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา โดยมีรางวัลและสาขาที่ได้รับทั้งหมดดังต่อไปนี้
สำหรับรางวัลภาพยนตร์รายการที่มีชื่อเสียงนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อด้วย ซึ่งได้แก่ รางวัลอคาเดมี ครั้งที่ 78 สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม และรางวัลบาฟตา ครั้งที่ 59 สาขาสเปเชียลวิชวลเอฟเฟคต์ยอดเยี่ยม สาขาออกแบบการสร้างยอดเยี่ยม และสาขาเสียงยอดเยี่ยม นอกจากรางวัลยอดเยี่ยมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลภาพยนตร์ประเภทยอดแย่ด้วย นั่นคือ รางวัลแรสป์เบอร์รีทองคำ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดแย่ ของแคที โฮล์มส์
รางวัลและเกียรติยศที่ได้รับจากการลงคะแนนเสียงจากผู้ชมนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ 2 รายการด้วยกัน ได้แก่ ได้รับรางวัลโททัลฟิล์มรีดเดอร์ส สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการลงคะแนนของผู้อ่านนิตยสารโททัลฟิล์ม และได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านนิตยสารเอมไพร์ให้เป็นตำแหน่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลอันดับที่ 36
แบทแมน บีกินส์ ออกวางจำหน่ายในรูปแบบของดีวีดีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยแบ่งจำหน่ายเป็นแบบธรรมดา ที่ประกอบด้วยดีวีดีภาพยนตร์แผ่นเดียว และแบบเดอลุกซ์ ที่ประกอบด้วยดีวีดี 2 แผ่นและของแถมอื่น ๆ เช่น หนังสือปกอ่อนเล่มเล็ก การ์ตูนแบทตอนแรกสุดที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือการ์ตูนดีเทคทีฟคอมมิคส์ ฉบับที่ 27 หนังสือการ์ตูน แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ และบางส่วนจากหนังสือการ์ตูน แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน เป็นต้น ยอดจำหน่ายและยอดการเช่าของดีวีดีภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำสถิติเป็นอันดับ 1 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 และมากที่สุดในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ. 2548 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีรายรับรวมจากการเช่า 11.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้วางจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบเอชดีดีวีดี และต่อมา ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ก็มีการวางจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบกิฟต์เซ็ต เพื่อเป็นการต้อนรับ แบทแมน อัศวินรัตติกาล ภาพยนตร์ภาคต่อที่ออกฉายในวันที่ 18 กรกฎาคม ของปีเดียวกัน
ซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยภายในได้บรรจุเพลงที่บรรเลงในภาพยนตร์ ที่ประพันธ์โดยแฮนส์ ซิมเมอร์ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด รวมถึง Ramin Djawadi และเมล เวสสัน เอาไว้จำนวน 12 เพลง ซึ่งชื่อของแต่ละเพลงนั้นถูกตั้งเป็นภาษาละตินและมีความหมายเกี่ยวข้องกับค้างคาวทั้งหมด โดยมีเพลงแรกที่ใช้ชื่อว่า "Vespertilio" ที่แปลว่า ค้างคาว และเพลงที่เหลือตั้งตามชื่อของค้างคาวสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เพลงที่ 2 "Eptesicus" (ค้างคาวท้องสีน้ำตาล) หรือเพลงที่ 3 "Myotis" (ค้างคาวหูหนู) เป็นต้น
วิดีโอเกมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้ชื่อว่า แบทแมน บีกินส์ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ ตัวเกมได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ยูโรคอม และจัดจำหน่ายโดยบริษัทอีเลคทรอนิคอาร์ตส์ ร่วมกับบริษัท วอร์เนอร์บราเธอร์ส, อินเตอร์แอคทีฟเอนเตอร์เทนเมนต์ และดีซีคอมมิคส์ โดยออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2548 (ก่อนหน้าที่ภาพยนตร์จะเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา 1 วัน) ในระบบเอกซ์บอกซ์ เพลย์สเตชัน 2 เกมคิวบ์ และเกมบอยแอดวานซ์
เกมนี้จัดอยู่ในตระกูลเกมแอคชั่นแอดเวนเจอร์ ผสมกับเกมประเภทลอบกระทำ (stealth) ที่ประกอบด้วยการสอดแนมและการลอบทำร้ายศัตรูจากด้านหลังเหมือนในเกมชุด สปลินเตอร์เซลล์ (Splinter Cell) ระบบการเล่นที่ถือว่าโดดเด่นของเกมนี้ คือระบบการขู่ให้ศัตรูในเกมเกิดความกลัว ด้วยการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมและฉากของเกม และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ระเบิดควัน ระเบิดแสง และเครื่องรับส่งเรดาร์เอชเอฟ ที่สามารถเรียกค้างคาวให้มารวมตัวกันและขัดขวางการทำงานของศัตรู เป็นต้น
เนื้อเรื่องในเกมนั้น ยึดตามการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องบางส่วนให้ต่างจากเดิม และเข้าไปเจาะลึกในรายละเอียดของบางฉากในภาพยนตร์มากขึ้น ภายในเกมนั้น ยังประกอบไปด้วยคลิปวิดีโอจากภาพยนตร์มากกว่า 20 คลิปที่มาให้บริบทของเรื่องราวในเกม และตัวละครบางตัวที่ได้ทีมงานจากภาพยนตร์มาแสดงแบบรับเชิญด้วย ซึ่งได้แก่ วัลลี พิฟ์สเตอร์ ผู้กำกับภาพ และเอมมา ทอมสัน ผู้อำนวยการสร้างและภรรยาของคริสโตเฟอร์ โนแลน